ในปัจจุบันมีข้อมูลมากมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของเรา ตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งเข้านอน ซึ่งอาจมาในรูปแบบของการใช้สมาร์ตโฟน เครื่องคอมพิวเตอร์ การใช้งานแอปพลิเคชั่นต่างๆ และมีข้อมูลเป็นจำนวนมากที่เราต้องพิจารณาในแต่ละวัน ดังนั้น ในการที่เราจะใช้ข้อมูลเพื่อประกอบการเรียน การทำงาน หรือการตัดสินใจในสิ่งต่างๆ เราต้องพิจารณาความถูกต้องของข้อมูล โดยต้องเป็นข้อมูลที่มาจากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ และมีความถูกต้องสมบูรณ์ สอดคล้องกับความต้องการและมีความทันสมัย ในการประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูล เรานิยมใช้หลักการต่อไปนี้
ประเด็นการพิจารณาของพร้อมท์ (PROMPT)
- การนำเสนอ (P : Presentation) อ่านว่า เพร-เซน-เท-ชั่น
- ความสัมพันธ์ (R : Relevance) อ่านว่า เร-เล-เวนซ์
- วัตถุประสงค์ (O : Objectivity) อ่านว่า อ็อบ-เจค-ทิ-วิ-ดิ
- วิธีการ (M : Method) อ่านว่า เม-เติด
- แหล่งที่มา (P : Provenance) อ่านว่า โพร-เวน-แนนซ์
- เวลา (T : Timeliness) อ่านว่า ทาม-ลิ-เนส

การนำเสนอ (P : Presentation)
ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ จะต้องมีการนำเสนอที่ดี โดยพิจารณาจากประเด็นต่างๆ ดังนี้ 1) มีโครงเรื่องเหมาะสม 2) มีรายละเอียดชัดเจน ไม่คลุมเครือ 3) ใช้ภาษาและสำนวนถูกต้อง 4) ข้อมูลตรงตามที่เราต้องการ 5) เนื้อหากระชับ 6) สามารถจับใจความสำคัญได้
ความสัมพันธ์ (R : Relevance)
ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ จะต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่เราต้องการ
วัตถุประสงค์ (O : Objectivity)
ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ จะต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็น หรือ มีเจตนาแอบแฝง
วิธีการ (M : Method)
ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ จะต้องมีการวางแผนการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ เช่น มีการเก็บข้อมูลเป็นขั้นตอน มีการคำนวณ มีการเรียงลำดับ หรือมีค่าทางสถิติ เป็นต้น
แหล่งที่มา (P : Provenance)
ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ต้องมีการระบุแหล่งที่มาชัดเจน และเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้
เวลา (T : Timeliness)
ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ จะต้องมีความเป็นปัจจุบันหรือทันสมัย มีการระบุช่วงเวลาในการสร้างข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริง
เมื่อเราจะใช้ข้อมูลใด ในการตัดสินใจ เราสามารถใช้ประเด็นการพิจารณาของพรอมท์ (PROMPT) ในประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูล เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นจากการรับข้อมูล นักเรียนสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูล ด้วยประเด็นการพิจาณาของพรอมท์ ได้จากเว็บไซต์ https://www.open.ac.uk/library/help-and-support/advanced-evaluation-using-prompt
ปัจจุบันเรามักใช้เว็บไซต์เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญในการสืบค้น ดังนั้นเราจึงควรตรวจสอบความเชื่อถือของแหล่งที่มาของข้อมูลก่อน มิเช่นนั้นอาจสร้างความเสียหายได้ วิธีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล มีเทคนิคดังนี้
การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแหล่งที่มาของข้อมูล
- เว็บไซต์หรือแหล่งข้อมูลนั้น ต้องบอกวัตถุประสงค์ในการสร้างหรือเผยแพร่ข้อมูลในเว็บไซต์อย่างชัดเจน
- การนำเสนอเนื้อหาต้องตรงตามวัตถุประสงค์ในการสร้างหรือเผยแพร่ข้อมูลของเว็บไซต์
- เนื้อหาเว็บไซต์ไม่ขัดต่อกฎหมาย ศีลธรรม และจริยธรรม
- มีการระบุชื่อผู้เขียนบทความ หรือผู้ให้ข้อมูลบนเว็บไซต์
- มีการอ้างอิงแหล่งที่มาหรือแหล่งต้นตอของข้อมูล ที่มีเนื้อหาปรากฎบนเว็บไซต์
- สามารถเชื่อมโยง (Link) ไปยังเว็บไซต์อื่นที่อ้างถึง เพื่อตรวจสอบแหล่งต้นตอของข้อมูลได้
- มีการระบุวันเวลาในการเผยแผร่ข้อมูลบนเว็บไซต์
- มีการให้ที่อยู่หรืออีเมล์ ที่ผู้อ่านสามารถติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์ได้
- มีช่องทางให้ผู้อ่านแสดงความคิดเห็น
- มีข้อความเตือนผู้อ่านให้ใช้วิจารณาณในการตัดสินใจใช้ข้อมูลที่ปรากฎบนเว็บไซต์
ปัจจุบันจะพบเห็นข่าวการสร้างเว็บไซต์เลียนแบบเว็บธนาคาร หรือเว็บบัตรเครดิต แล้วมีผู้ใช้งานหลงเชื่อให้ข้อมูลกับกลุ่มมิจฉาชีพ จนสูญเสียเงินจำนวนมาก ดังนั้น ก่อนจะกรอกข้อมูลใดลงในเว็บไซต์ ควรพิจารณาให้รอบคอบก่อน เช่น ดูจากโดเมนเนม หมายเลขไอพี หรือเราสามารถตรวจสอบโดเมนของเว็บไซต์ โดยใช้บริการของ whois.domaintools.com/